ประเทศไทย
(Thailand)
ภาษา : ภาษาไทย เป็นภาษาราชการ
ภาษาไทย เป็นภาษาราชการของประเทศไทย และภาษาแม่ของชาวไทย และชนเชื้อสายอื่นในประเทศไทยภาษาไทยเป็นภาษาในกลุ่มภาษาไท ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของตระกูลภาษาไท-กะได สันนิษฐานว่า ภาษาในตระกูลนี้มีถิ่นกำเนิดจากทางตอนใต้ของประเทศจีน และนักภาษาศาสตร์บางส่วนเสนอว่า ภาษาไทยน่าจะมีความเชื่อมโยงกับตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน และตระกูลภาษาจีน-ทิเบต
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับเสียงของคำแน่นอนหรือวรรณยุกต์เช่นเดียวกับภาษาจีน และออกเสียงแยกคำต่อคำ เป็นที่ลำบากของชาวต่างชาติเนื่องจากการออกเสียงวรรณยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคำ และการสะกดคำที่ซับซ้อน
หน่วยเสียง
ภาษาไทยประกอบด้วยหน่วยเสียงสำคัญ 3 ประเภท[2] คือ
- หน่วยเสียงพยัญชนะ
- หน่วยเสียงสระ
- หน่วยเสียงวรรณยุกต์
พยัญชนะ
พยัญชนะต้น
ภาษาไทยแบ่งแยกรูปแบบเสียงพยัญชนะก้องและพ่นลม ในส่วนของเสียงกักและเสียงผสมเสียดแทรก เป็นสามประเภทดังนี้
- เสียงไม่ก้อง ไม่พ่นลม
- เสียงไม่ก้อง พ่นลม
- เสียงก้อง ไม่พ่นลม
หากเทียบกับภาษาอังกฤษ โดยทั่วไปมีเสียงแบบที่สองกับสามเท่านั้น เสียงแบบที่หนึ่งพบได้เฉพาะเมื่ออยู่หลัง s ซึ่งเป็นเสียงแปรของเสียงที่สอง
เสียงพยัญชนะต้นโดยรวมแบ่งเป็น 21 เสียง ตารางด้านล่างนี้บรรทัดบนคือสัทอักษรสากล บรรทัดล่างคืออักษรไทยในตำแหน่งพยัญชนะต้น (อักษรหลายตัวที่ปรากฏในช่องให้เสียงเดียวกัน) อักษรโรมันที่กำกับเป็นระบบถอดอักษรของราชบัณฑิตยสถาน
ริมฝีปาก ทั้งสอง | ริมฝีปากล่าง -ฟันบน | ปุ่มเหงือก | หลังปุ่มเหงือก | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | เส้นเสียง | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เสียงนาสิก | [m] ม m | [n] ณ,น n | [ŋ] ง ng | ||||||||||||
เสียงกัก | [p] ป p | [pʰ] ผ,พ,ภ ph | [b] บ b | [t] ฏ,ต t | [tʰ] ฐ,ฑ,ฒ,ถ,ท,ธ th | [d] ฎ,ด d | [k] ก k | [kʰ] ข,ฃ,ค,ฅ,ฆ* kh | [ʔ] อ** - | ||||||
เสียงเสียดแทรก | [f] ฝ,ฟ f | [s] ซ,ศ,ษ,ส s | [h] ห,ฮ h | ||||||||||||
เสียงผสมเสียดแทรก | [t͡ɕ] จ c(h) | [t͡ɕʰ] ฉ,ช,ฌ ch | |||||||||||||
เสียงรัว | [r] ร r | ||||||||||||||
เสียงเปิด | [w] ว w | [j] ญ,ย y | |||||||||||||
เสียงเปิดข้างลิ้น | [l] ล,ฬ l |
- * ฃ และ ฅ เลิกใช้แล้ว ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าภาษาไทยสมัยใหม่มีพยัญชนะเพียง 42 ตัวอักษร
- ** อ ที่เป็นพยัญชนะต้นหมายถึงเสียงเงียบ และดังนั้นมันจึงถูกพิจารณาว่าเป็นเสียงกัก เส้นเสียง
พยัญชนะสะกด
ถึงแม้ว่าพยัญชนะไทยมี 44 รูป 21 เสียงในกรณีของพยัญชนะต้น แต่ในกรณีพยัญชนะสะกดแตกต่างออกไป สำหรับเสียงสะกดมีเพียง 8 เสียง และรวมทั้งไม่มีเสียงด้วย เรียกว่า มาตรา เสียงพยัญชนะก้องเมื่ออยู่ในตำแหน่งตัวสะกด ความก้องจะหายไป
ในบรรดาพยัญชนะไทย นอกจาก ฃ และ ฅ ที่เลิกใช้แล้ว ยังมีพยัญชนะอีก 6 ตัวที่ใช้เป็นตัวสะกดไม่ได้คือ ฉ ผ ฝ ห อ ฮ ดังนั้นมันจึงเหลือเพียง 36 ตัวตามตาราง อักษรโรมันที่กำกับเป็นระบบถอดอักษรของราชบัณฑิตยสถาน
ริมฝีปาก ทั้งสอง | ริมฝีปากล่าง -ฟันบน | ปุ่มเหงือก | หลังปุ่มเหงือก | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | เส้นเสียง | ||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เสียงนาสิก | [m] ม m | [n] ญ,ณ,น,ร,ล,ฬ n | [ŋ] ง ng | |||||||
เสียงกัก | [p̚] บ,ป,พ,ฟ,ภ p | [t̚] จ,ช,ซ,ฌ,ฎ,ฏ,ฐ,ฑ,ฒ, ด,ต,ถ,ท,ธ,ศ,ษ,ส t | [k̚] ก,ข,ค,ฆ k | [ʔ] * - | ||||||
เสียงเปิด | [w] ว o(w) | [j] ย i(y) |
- * เสียงกัก เส้นเสียง จะปรากฏเฉพาะหลังสระเสียงสั้นเมื่อไม่มีพยัญชนะสะกด
กลุ่มพยัญชนะ
แต่ละพยางค์ในคำหนึ่ง ๆ ของภาษาไทยแยกออกจากกันอย่างชัดเจน (ไม่เหมือนภาษาอังกฤษที่พยัญชนะสะกดอาจกลายเป็นพยัญชนะต้นในพยางค์ถัดไป หรือในทางกลับกัน) ดังนั้นพยัญชนะหลายตัวของพยางค์ที่อยู่ติดกันจะไม่รวมกันเป็นกลุ่มพยัญชนะเลย
ภาษาไทยมีกลุ่มพยัญชนะเพียงไม่กี่กลุ่ม ประมวลคำศัพท์ภาษาไทยดั้งเดิมระบุว่ามีกลุ่มพยัญชนะ (ที่ออกเสียงรวมกันโดยไม่มีสระอะ) เพียง 11 แบบเท่านั้น เรียกว่า พยัญชนะควบกล้ำ หรือ อักษรควบกล้ำ
ริมฝีปาก | ปุ่มเหงือก | เพดานอ่อน | ||||
---|---|---|---|---|---|---|
พยัญชนะเดี่ยว | /p/ ป | /pʰ/ ผ,พ | /t/ ต | /k/ ก | /kʰ/ ข,ฃ,ค,ฅ | |
เสียงรัว | /r/ ร | /pr/ ปร | /pʰr/ พร | /tr/ ตร | /kr/ กร | /kʰr/ ขร,ขร,คร |
เสียงเปิด | /l/ ล | /pl/ ปล | /pʰl/ ผล,พล | /kl/ กล | /kʰl/ ขล,คล | |
/w/ ว | /kw/ กว | /kʰw/ ขว,ฃว,คว,ฅว |
พยัญชนะควบกล้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจากคำยืมภาษาต่างประเทศ อาทิ อินทรา จากภาษาสันสกฤต พบว่าใช้ /tʰr/ (ทร - thr), ฟรี จากภาษาอังกฤษ พบว่าใช้ /fr/ (ฟร - fr) เป็นต้น เราสามารถสังเกตได้ว่า กลุ่มพยัญชนะเหล่านี้ถูกใช้เป็นพยัญชนะต้นเท่านั้น ซึ่งมีเสียงพยัญชนะตัวที่สองเป็น ร ล หรือ ว และกลุ่มพยัญชนะจะมีเสียงไม่เกินสองเสียงในคราวเดียว การผันวรรณยุกต์ของคำขึ้นอยู่กับไตรยางศ์ของพยัญชนะตัวแรก
ไวยากรณ์
ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด คำในภาษาไทยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปไม่ว่าจะอยู่ในกาล (tense) การก (case) มาลา (mood) หรือวาจก (voice) ใดก็ตาม คำในภาษาไทยไม่มีลิงก์ (gender) ไม่มีพจน์ (number) ไม่มีวิภัตติปัจจัย แม้คำที่รับมาจากภาษาผันคำ (ภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย) เป็นต้นว่าภาษาบาลีสันสกฤต เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูป คำในภาษาไทยหลายคำไม่สามารถกำหนดหน้าที่ของคำตายตัวลงไปได้ ต้องอาศัยบริบทเข้าช่วยในการพิจารณา เมื่อต้องการจะผูกประโยค ก็นำเอาคำแต่ละคำมาเรียงติดต่อกันเข้า ภาษาไทยมีโครงสร้างแตกกิ่งไปทางขวา คำคุณศัพท์จะวางไว้หลังคำนาม ลักษณะทางวากยสัมพันธ์โดยรวมแล้วจะเป็นแบบ 'ประธาน-กริยา-กรรม'
วากยสัมพันธ์
ลักษณะทางวากยสัมพันธ์หรือการเรียงลำดับคำในประโยคโดยรวมแล้วจะเรียงเป็น 'ประธาน-กริยา-กรรม' (subject-verb-object หรือ SVO) อย่างใดก็ดี ในบางกรณีเช่นในกรณีที่มีการเน้นความหมายของกรรม (topicalization) สามารถเรียงประโยคเป็น กรรม-ประธาน-กริยา ได้ด้วย แต่ต้องใช้คำชี้เฉพาะเติมหลังคำกรรมคำนั้น อาทิ
กรณี | ลำดับคำ | ตัวอย่าง |
---|---|---|
ธรรมดา (unmarked) | ประธาน-กริยา-กรรม | วัวกินหญ้าแล้ว |
เน้นกรรม (object topicalization) | กรรม-ประธาน-กริยา | หญ้านี้ วัวกินแล้ว หรือ หญ้าเนียะ วัวกินแล้ว |